ประวัติ สมาคม
สมาคมความปลอดภัยทางน้ำ มีชื่อย่อว่า “สปน.” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “MARITIME SAFETY ASSOCIATION” ย่อว่า “MSA” มีความเป็นมาสรุปได้ว่า พลเรือเอกไพโรจน์ แก่นสาร และ พลเรือเอกปรีชา และ นางสาวณัฐพร มิ่งศิริธรรม ได้ยื่นเรื่องขอจะทะเบียนจัดตั้ง สมาคมความปลอดภัยทางน้ำ (เลขคำขอที่ 1/2562) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 และนายทะเบียนสมาคมจังหวัดสมุทรปราการได้ทำการจดทะเบียนสมาคมความปลอดภัยทางน้ำเป็นนิติบุคคล (เลขทะเบียนลำดับที่ 2/2562) ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2562 โดยมีสำนักงานใหญ่ของสมาคม ตั้งอยู่ที่เลขที่ 1122 หมู่ที่ 6 ถนนท้ายบ้าน ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ 10270 โดยมีเหตุผลหลักในการจัดตั้งสมาคม คือ เนื่องจากในปัจจุบัน ประชาชนมีความนิยมสัญจรทางน้ำ ท่องเที่ยวทางน้ำ หรือใช้การขนส่งทางเรือมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกรวดเร็วและมีราคาประหยัดกว่าการขนส่งทางบก
อย่างไรก็ตาม การเดินทางทางน้ำโดยเรือหรือยานพาหนะต่างๆ ไม่ว่าจะเดินทางไปเพื่อทำงานประกอบอาชีพ การติดต่อธุรกิจ หรือการพักผ่อนหย่อนใจ อุบัติเหตุจากการสัญจรทางน้ำ รวมทั้งเขตท่าเรือหรือโครงสร้าง-อาคารต่างๆ ที่อยู่ในน้ำหรือทะเล อาจเกิดขึ้นได้เสมอหากขาดความระมัดระวัง สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำมีมากมาย อาทิ เรือล่มเนื่องจากบรรทุกคนหรือสิ่งของมากเกินไป เรือถูกคลื่นหรือลมพายุ เรือรั่วหรือชำรุด ความไม่มั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างท่าเรือ อาคารในน้ำหรือทะเล หรือกรณีเหตุเรือแล่นชนเรือด้วยกัน (เรือโดนกัน) เรือใหญ่ชนกันแล้วแล่นทับเรือเล็ก เรือชนกันขณะเลี้ยวคุ้งน้ำ หรือเหตุจากเรือชนสิ่งกีดขวางใต้น้ำ เช่น ชนหินโสโครก ชนตอไม้ ต้นไม้ แพ ท่าเรือ หรือชนสะพาน เป็นต้น ยกตัวอย่างจากเหตุการณ์เรือท่องเที่ยว “ฟีนิกซ์ พีซีไดวิ่ง” ล่มกลางทะเลภูเก็ตเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 47 คน จากจำนวนผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 105 คน อันมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่สภาพอากาศ การแจ้งเตือนล่าช้า การควบคุมเรือเข้าออกจากฝั่งไม่เข้มงวดเท่าที่ควร นายเรือหรือผู้ควบคุมต้องมีประสบการณ์และสามารถตัดสินใจในภาวะฉุกเฉิน นโยบายของหน่วยงานของรัฐที่จะควบคุมไม่ให้ออกเรือฝ่าคลื่นลมออกไปหรือไม่ รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัย การสาธิตวิธีใช้อุปกรณ์และการเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยสาเหตุหลักๆ ของอุบัติเหตุทางน้ำ มักเกิดจากการที่เจ้าของเรือหรือผู้ควบคุมที่ขาดความระมัดระวังในการเดินเรือ และผู้โดยสารที่ขาดความระมัดระวังในการขึ้น-ลงหรือโดยสารเรือ ขาดความรู้ความเข้าใจในการเตรียมพร้อมก่อนเดินทางทางเรือ ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันภัยบุคคลทางน้ำ หรือมีแต่ไม่เพียงพอต่อผู้โดยสารที่อยู่ในเรือ ขาดระบบการสื่อสารแจ้งเตือนล่วงหน้าหรือแจ้งเหตุ ตลอดจนระบบการเฝ้าติดตามเรือโดยสารเพื่อช่วยป้องกันเหตุที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีความรู้เฉพาะด้านความปลอดภัยทางน้ำทำการเผยแพร่ให้ความรู้ และให้คำแนะนำในด้านเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยทางน้ำที่ทันสมัย
ดังนั้น ในฐานะกลุ่มผู้ประกอบการด้านอุปกรณ์ความปลอดภัยทางน้ำจึงเห็นร่วมกันว่า ควรจัดตั้งองค์กรกลางเป็นสมาคมขึ้นมีชื่อว่า “สมาคมความปลอดภัยทางน้ำ” เพื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและหน่วยงานสำคัญต่างๆ เพื่อจัดทำโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคม สนับสนุนการจัดกิจกรรมทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยทางน้ำให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล
- มีหน่วยงานที่เป็นองค์กรกลางบริหารจัดการแนวใหม่ที่ทำงานเชิงรุกตอบสนองนโยบายของรัฐ มีความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรมและมีการสื่อสารระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- มีระบบโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบของระบบกลางที่สามารถให้บริการได้ทุกหน่วยงานเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลความปลอดภัยทางน้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
- มีการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและให้บริการประชาชน
- ก่อให้เกิดเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัยทางน้ำ
- สนับสนุนกลไกภาครัฐให้เกิดระบบการบริหารจัดการเพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการประสบอันตรายอันเนื่องจากการสัญจรทางน้ำทั้งในเรื่องการเกิดอุบัติเหตุและภัยอื่นๆ จากธรรมชาติในทะเล
- ลดภาระของประเทศในการค้นหาและกู้ภัยผู้ที่ประสบอันตรายจากอุบัติเหตุทางน้ำ และลดผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุอันเนื่องจากการสัญจรทางน้ำ
- การดำเนินการของ สปน. เป็นการสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ด้านความปลอดภัยทางน้ำจะทำให้ประชาชนที่สัญจรทางน้ำได้รับการดูแลและป้องกันให้มีความปลอดภัย
- ช่วยยกระดับขีดความสามารถของภาครัฐในการลดการประสบอันตรายจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติทางน้ำ และส่งผลให้มีมาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่าสากล
- โดยการบริการด้านความปลอดภัยทางน้ำที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐ รวมถึงการสร้างโอกาสให้ประชาชนได้เลือกใช้บริการที่ดี โปร่งใสและเป็นธรรม
- ประชาชนได้รับการพัฒนาความรู้ด้านความปลอดภัยทางน้ำที่ถูกต้อง เหมาะสม เกิดความเข้าใจ สามารถนำสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้องทั้งในเชิงการป้องกันอันตราย และการไม่เป็นผู้ก่อให้เกิดภาวะอันตราย รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางน้ำให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
- ประชาชนสามารถเข้าถึงศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยทางน้ำและรับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
- ประชาชนสามารถรับรู้ถึงวิธีการดูแลป้องกันตนเองจากอันตรายและภัยธรรมชาติจากการสัญจรทางน้ำ